วิธีใช้งาน รีโมท แอร์บ้าน Mavell
วันนี้เราก็มาอยู่กับตัวAccessory ของเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนังในส่วนของคอย์เย็น หรือ Evaporatorกันครับ ซึ่งได้มีการใส่อุปกรณ์เสริมต่างๆมาในซองพร้อมกับเครื่องปรับอากาศด้วย ในนั้นจะมีใบรับประกันซึ่งสามารถใช้โทรศัพท์มือถือมา Scan QR code เพื่อทำการลงทะเบียนรับประกันได้ครับ แล้วก็จะมีในส่วนของคู่มือการใช้งานรวมถึงแผ่นกรองฝุ่น Hepa Filter มีมาให้ด้วยถันถึง 2 แผ่น ที่ขาดไม่ได้สำหรับการใช้งานเครื่องปรับอากาศมาเวลก็คือรีโมทคอนโทรลครับ ซึ่งเจ้าตัวโมทเขาก็จะมี Accessory แยกมาให้ต่างหาก อย่างตัวที่จับรีโมท แล้วก็ตัวน๊อตสำหรับยึดที่จับรีโมทเข้ากับผนัง อีกชิ้นนึงก็จะเป็นตัวถ่านที่ใช้งานกับรีโมท โดยเราจะมีการแถมถ่านขนาด AAA มาให้ถึง 2 ก้อนด้วยกัน แล้วที่ขาดไม่ได้สำหรับวันนี้ก็คือเจ้ารีโมทคอนโทรลของเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนังครับ
เริ่มต้น การใช้งาน
สำหรับการเริ่มต้นการใช้งานในครั้งแรกเราจะเริ่มจากการใส่ถ่านเข้าไปในรีโมทก่อน ซึ่งถ่านที่แถมกับรีโมทแอร์มาเวลจะใช้เป็นถ่านขนาด AAA จำนวน 2 ก้อนด้วยกัน แล้วเมื่อเปิดเครื่องปรับอากาศด้วยรีโมทคอนโทรล ระบบจะ Standby ที่โหมด Auto ก่อนเพื่อเป็นการเริ่มต้นการใช้งานในครั้งแรกครับ
สำหรับโหมดการทำงานต่างๆของเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนังนั้นจะมีโหมดอะไรบ้าง ตามไปดูกันได้เลยครับ
ปุ่ม Power คือปุ่มสำหรับการ เปิด/ปิดเครื่องปรับอากาศเมื่อเริ่มต้นการใช้และเมื่อไม่ต้องการใช้งาน
ปุ่ม Speed หรือปุ่มปรับระดับความแรงของพัดลมเครื่องปรับอากาศ มีอยู่ด้วยกัน 4 ระดับด้วยกัน (Auto,Low,Middle,Hight)
ปุ่ม Mode หรือปุ่มสำหรับเลือกโหมดการทำงานของเครื่องปรับอากาศให้ตรงตามจุดประสงค์ที่เราต้องการ สำหรับโหมดการทำงานต่างๆของเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนังก็จะโหมดการทำงานให้เลือกใช้งานถึง 5 โหมดด้วยกัน (Auto,Cool,Dry,Heat,Fan) แต่ละโหมดก็จะมีรูปแบบของการทำงานที่แตกต่างกันออกไป
โหมด การทำงาน
Auto Mode หรือโหมดการทำงานอัตโนมัติในโหมด Auto จะขึ้นมาเมื่อเราได้มีการเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศมาเวลในครั้งแรก ซึ่งตัวเขาเองจะมีการเลือกโหมดการทำงานมาให้เองอัติโนมัติ ในโหมด Auto นี้จะไม่สามารถปรับอุณภูมิของเครื่องปรับอากาศตามที่เราต้องการได้ครับ
Character: ระบบจะเลือกโหมดการทำงานมาให้เองอัตโนมัติ (Cool,Dry,Heat,Fan) ปรับอุณหภูมิไม่ได้ ไม่แสดงค่าอุณภูมิบนรีโมท จะแสดงแค่บนจอเครื่องปรับอากาศเท่านั้น
Tip: หากใช้งานเครื่องปรับอากาศแล้วไม่สามารถกดปรับอุณหภูมิที่รีโมทได้ ให้เช็คที่หน้าจอรีโมทก่อนว่าลูกศรได้ชี้ไปที่โหมด Auto หรือเปล่า
โหมด Cool หรือโหมดทำความเย็น น่าจะเป็นโหมดการทำงานที่เหมาะกับสภาพอากาศอากาศในเมืองไทยที่ร้อนอบอ้าวตลอดทั้งปีเป็นที่สุด ในโหมดนี้เครื่องปรับอากาศเขาจะสามารถปรับระดับความแรงของพัดลม(Speed)ได้ถึง 4 ระดับด้วยกัน โดยการกดไปที่ปุ่ม Mode เพื่อเปลี่ยนจาก โหมด Auto ไปโหมด Cool
หลังจากนั้นเขาจะเริ่มการทำงานของความแรงพัดลมที่ Auto ก่อน แล้วเราก็ทำการกดปุ่ม Speed ไป 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่ระดับความแรงของพัดลมที่ระดับ Low และกดSpeedอีก 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่ระดับ Middle หรือระดับปานกลางครับ หากความแรงของลมที่ระดับนี้ยังไม่ถูกใจก็กด Speed อีก 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่ระดับ Hight ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของพัดลมเครื่องปรับอากาศ
Character: ปรับอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ ปรับความแรงของพัดลม (Speed) ได้ 4 ระดับ (Auto,Low,Middle,Hight,) และระดับพิเศษ (Turbo) ได้อีก 1 ระดับ
ปุ่ม Turbo หรือปุ่มปรับระดับความแรงของพัดลมแบบพิเศษ ในโหมด Cool เขาจะมีความสามารถพิเศษอีกอย่างนึง ในการปรับรอบของมอเตอร์ให้แรงขึ้นไปอีกระดับในระดับที่เรียกว่า Turbo โดยเราจะทำการกดที่ปุ่ม Turbo 1 ครั้ง ที่หน้าจอรีโมท เขาจะแสดงลูกศรอยู่ที่ระดับ Hight รอบของพัดลมเขาจะทำงานแรงขึ้นกว่าปกติ แต่ถ้าหากเรารู้สึกว่าระดับ Turbo มันแรงไปเราอยากกลับมาที่ระดับ Hight ก็ให้ทำการกดปุ่ม Turbo อีกครั้งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนระดับความแรงของพัดลมมาที่ระดับ Hight เท่านี้ก็สามารถรับอากาศที่เย็นสบายได้ตลอดการใช้งานแล้วครับ
โหมด Dry หรือโหมดลดความชื้น เหมาะสำหรับช่วงหน้าฝนที่อาจก่อให้เกิดความชื้นภายในบ้านที่สูงขึ้นกว่าปกติ ซึ่งความชื้นสัมพันธ์ที่มนุษย์รู้สึกสบายตัวจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 40% RH – 60% RH เมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่ 18-25 องศาเซลเซียส การที่ความชื้นภายในบ้านสูงขึ้น อาจก่อให้เกิดเชื้อราต่างๆขึ้นภายในบ้านและทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ แอร์มาเวลมีฟังก์ชั่นในการช่วยลดความชื้นของอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดการทำงานไปที่โหมด Dry
ซึ่งลักษณะการทำงานของโหมดนี้เขาจะทำการดูดความชื้นของอากาศภายในห้องจนกลั่นตัวออกเป็นหยดน้ำแล้วค่อยๆปล่อยให้น้ำตัวนี้ไหลออกไปตามท่อน้ำทิ้ง จะทำให้ช่วยยับยั้งเชื้อราภายในห้องได้ แล้วหากรู้สึกเหนียวตัวไม่สบายตัวก็สามารถใช้โหมด Dry ช่วยได้ครับ
Character: ช่วยลดความชื้นภายในห้อง ปรับอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ(แต่อาจจะเย็นไม่เท่าโหมด Cool) ปรับความแรงของพัดลม (Speed) ได้ 4 ระดับ (Auto,Low,Middle,Hight,) ไม่สามารถปรับความแรงของพัดลมเป็น Turbo ได้
โหมด Heat หรือโหมดทำความร้อน จะนิยมใช้ในพื้นที่ที่มีอากาศค่อนข้างหนาว ตัวโหมด Heat เขาจะทำงานคล้ายๆกับฮีทเตอร์ หรือเครื่องทำความร้อน
ซึ่งเมื่อกดมาโหมดนี้อุณหภูมิเขาจะ Standby เริ่มต้นที่ 28 องศา เป็นการเริ่มต้นการใช้งานในครั้งแรก
Character: เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีอากาศหนาว ความสามารถในการทำงานคล้ายๆกับฮีทเตอร์ ปรับอุณหภูมิได้ตามที่ต้องการ ปรับความแรงของพัดลม (Speed) ได้ 4 ระดับ (Auto,Low,Middle,Hight,) ไม่สามารถปรับความแรงของพัดลมเป็น Turbo ได้
โหมด Fan หรือโหมดพัดลม หากใครต้องการใช้เครื่องปรับอากาศเพื่อไล่กลิ่นที่ไม่พึ่งประสงค์ภายในห้องออกไป โหมด Fan ก็เป็นโหมดที่เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบนี้มากๆครับ ซึ่งเขาจะทำงานแค่ตัวพัดลมปรับได้เพียงแค่ระดับของพัดลมเท่านั้น ไม่สามารถปรับอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศได้
ที่สำคัญก็คือเขาไม่สามารถปรับความแรงของพัดลมไปที่ระดับ Turbo ได้เหมือนโหมด cool ครับ
Character: เหมาะกับการใช้ไล่กลิ่นหรือต้องการแค่ลมไม่ได้ต้องการให้เครื่องปรับอากาศทำความเย็น ปรับอุณหภูมิไม่ได้ ปรับความแรงของพัดลม (Speed) ได้ 4 ระดับ (Auto,Low,Middle,Hight,) ไม่สามารถปรับความแรงของพัดลมเป็น Turbo ได้
ฟังก์ชั่น การทำงานต่างๆ
สำหรับฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆของเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนังนั้นมีให้เลือกใช้กันมากมายเลยครับ แต่ละฟังก์ชั่นก็จะมีคุณภาพบัติการทำงานที่แตกต่างกันออกไปเราไปเริ่มต้นทำความรู้จักกับฟังก์ชั่นแรกอย่าง Sleep Mode กันครับ
ปุ่ม Sleep หรือฟังก์ชั่นที่เข้ามาช่วยในเรื่องของการนอนหลับพักผ่อน เมื่อเรากดที่ปุ่ม Sleep แสงไฟที่หน้าจอบนเครื่องปรับอากาศจะดับลง
และจะทำการเลือกโหมดการทำงานมาให้เองอัตโนมัติครับ แต่ด้วยสภาพอากาศของบ้านเราที่ร้อนอบอ้าวแบบนี้ การใช้โหมด Sleep อาจจะไม่ค่อยถูกใจคนไทยเท่าไหร่หากอยากจะนอนหลับแบบเย็นฉ่ำตลอดทั้งคืนพร้อมกับการปิดแสงไฟที่หน้าจอ ผมจะแนะนำเป็นฟังก์ชั่นที่เรียกว่า Display ครับ
ปุ่ม Display หรือฟังก์ชั่นปิดแสงไฟบนหน้าจอเครื่องปรับอากาศ ไม่ว่าเครื่องปรับอากาศจะทำงานอยู่ในโหมดใดอยู่ก็ตาม อย่างเวลาผมจะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืน ผมปรับโหมดการทำงานของเครื่องปรับอากาศให้อยู่ในโหมด Cool ก่อน แล้วตั้งอุณหภูมิที่ 22 องศาเซลเซียสให้มันเย็นขึ้นมาหน่อย
แล้วก็ปรับ Speed ไปที่ระดับ High เพราะอยากได้ลมแรงๆเพื่อที่จะได้รับความเย็นแบบฉ่ำๆ
หลังจากได้ความเย็น และความแรงของพัดลมตามที่ต้องการเเล้ว ก็จะกดที่ปุ่ม Display ที่รีโมท เพื่อปิดแสงไฟที่แสดงอุณภูมิบนเครื่องปรับอากาศครับ เพราะการมีแสงเล็กๆน้อยอาจจะส่งผลให้การนอนหลับนั้นไม่เต็มประสิทธิภาพได้ครับ
Tip: ผู้ใช้งานหลายๆคนอาจเจอปัญหาหน้าจอเครื่องปรับอากาศไม่แสดงตัวเลขอุณหภูมิ ผมเลยอยากแนะนำให้มาลองกดที่ปุ่ม Display ก่อนเพราะบางทีมือเราอาจจะเผลอไปโดนปุ่มนี้เข้าก็ได้ครับ
ปุ่ม Timer หรือฟังก์ชั่นการตั้งเวลาปิด หรือเปิดเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติ หากเราต้องการตั้งเวลาปิดเครื่องปรับอากาศในอีก 8 ชั่วโมงก็เพียงแค่กดที่ปุ่ม Timer เขาจะแสดงเลขตั้งเวลาบนรีโมทเริ่มต้นที่ 0.5 หมายถึง 30 นาที (ปรับขึ้นทีละ 30 นาที) แล้วให้เรากดปุ่ม Set(ปุ่มเดียวกับการปรับอุณหภูมิ)ไปเรื่อยๆจนหน้าจอรีโมทแสดงตัวเลขที่ 8.0 หรือ 8 ชั่วโมง แล้วก็ปุ่ม timer อีกครั้งหนึ่งเพื่อบันทึกเวลา หากอยากยกเลิกการตั้งเวลาก็ให้กดที่ปุ่ม Timer อีกครั้งหนึ่งครับ สำหรับการตั้งเวลาเปิดเครื่องก็ทำเหมือนกับวิธีที่กล่าวมา เพียงแค่ต้องทำตอนที่เครื่องปรับอากาศปิดอยู่เท่านั้น
SWING
ปุ่ม Swing↕,Swing↔ หรือฟังก์ชั่นการล็อคบานสวิงของเครื่องปรับอากาศโดยปกติแอร์จะถูกตั้งบานสวิงให้เป็นแบบ Auto อยู่แล้วแต่ถ้าหากเราอยากล็อคบานสวิงให้อยู่ในองศาตามที่เราต้องการ เราสามารถทำได้ด้วยการกดไปที่ปุ่ม Swing ขึ้นลง และSwingซ้ายขวาทั้ง 2 ปุ่ม อย่างเวลาผมนั่งทำงานผมจะรอให้บานสวิงขึ้นลงได้องศาตามที่ต้องการก่อนแล้วกดล็อคบานสวิงขึ้นลงไว้ ส่วนบานสวิงซ้ายขวาผมจะเปิดเป็น Auto ก็คือไม่ต้องไปกดปุ่มอะไร เพราะว่าเราอาจจะมีการเคลื่อนตัวไปทางด้านซ้ายบ้าง ด้านขวาบ้าง ลมจะได้โดนตัวตลอด
Tip: หากรู้สึกว่าลมของแอร์กระจายความเย็นได้ไม่ทั่วทั้งห้องอาจจะต้องมาเช็คที่ 2 ปุ่มนี้ก่อนว่าได้เผลอกดล็อคบานสวิงไว้หรือไม่ครับ
ปุ่ม iFEEL หรือฟังก์ชั่นการตรวจวัดอุณหภูมิที่ออกจากตัวเครื่องปรับอากาศด้วยตัวเอง ด้านหลังของรีโมทเครื่องปรับอากาศมาเวลแบบติดผนัง
จะมีเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิอยู่ โดยการกดไปที่ปุ่ม iFEEL 1 ครั้ง บนหน้าจอรีโมทจะขึ้นคำว่า Room แล้วหลังจากนั้นให้นำรีโมทไปจ่อไว้ที่หน้าเครื่องปรับอากาศปล่อยทิ้งไว้จนค่าอุณหภูมิบนรีโมทหยุดนิ่งไม่ลดลง หากอยู่ระหว่าง 10-14 องศา แสดงว่าเครื่องปรับอากาศนั้นทำงานปกติครับ
Tip: ช่างเทคนิคแนะนำเราว่า ให้นำเทปติดรีโมทไว้กับตัวบานสวิงของเครื่องปรับอากาศ แทนการถือด้วยมือและอุปกรณ์ครับ
ปุ่ม °C/°F หรือฟังก์ชั่นเปลี่ยนหน่วยวัดอุณหภูมิของเครื่องปรับอากาศ บางกรณีเราอาจจะเจอว่าแอร์ก็เย็นแต่อุณหภูมิที่รีโมทดันขึ้น 77 องศา เลยทำให้เข้าใจว่ารีโมทแอร์เสียหรือมีปัญหา แต่อย่าพึ่งตกใจไปครับเพราะว่าคุณอาจจะเผลอเอามือไปโดนปุ่มที่เรียกว่า °C/°F ก็ได้ ปุ่ม °C/°F เป็นปุ่มที่มีไว้เพื่อเปลี่ยนหน่วยวัดอุณหภูมิจากองศาเซลเซียส เป็นองศาฟาเรนไฮต์
วิธีแก้ปัญหาก็คือเราจะต้องกดที่ปุ่ม C/F 1 ครั้ง เพื่อเปลี่ยนหน่วยวัดอุณหภูมิจากองศาฟาเรนไฮต์มาที่องศาเซลเซียสเท่านี้เองครับ
ปุ่ม ELE.H ECO หรือฟังก์ชั่นการประหยัดพลังงานของเครื่องปรับอากาศ Eco เหมาะสำหรับเครื่องปรับอากาศที่เปิดใช้งานในตอนกลางวันและทำงานต่อเนื่องเกิน 8 ชั่วโมงซึ่งจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แต่ด้วยความที่ผมใช้เครื่องปรับอากาศที่เป็นระบบอินเวอร์เตอร์ซึ่งประหยัดไฟมากๆอยู่แล้ว
โหมดนี้เลยแทบจะไม่ได้ใช้งานเลยครับ
ปุ่ม HEALTH iCLEAN หรือฟังก์ชั่นที่จะเข้ามาช่วยทำความสะอาดแผงคอยล์อัตโนมัติหลังจากปิดเครื่องปรับอากาศ เมื่อเรากดปุ่ม Iclean ที่รีโมทและเครื่องปรับอากาศจะขึ้นตัวอักษร CL เครื่องปรับอากาศเขาจะใช้เวลาในการในการทำความสะอาดตัวแผงคอยล์ประมาณ 30 นาที
เท่านี้ก็พร้อมเริ่มใช้งานในครั้งถัดไปแล้วครับ