สร้างโอกาสใหม่ๆในการทำงาน ผ่านการยื่นขอใบรับรองความรู้ความสามารถของช่างเครื่องปรับอากาศ
“อาชีพช่างแอร์” อาชีพยอดฮิตในยุคสมัยที่เครื่องปรับอากาศถูกนำเข้ามาใช้งานภายในที่พักอาศัย และบริษัทต่างๆ ในสภาพอากาศของเมืองไทยที่ร้อนระอุตลอดทั้งปีแบบนี้ทำให้อาชีพช่างแอร์ถือได้ว่าเป็นอาชีพหนึ่งที่มั่นคง และสามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัว รวมไปถึงการต่อยอดเป็นธุรกิจต่างๆ มากมายได้อีกด้วย เมื่อมีคนใช้งานเครื่องปรับอากาศมากขึ้น ก็ส่งผลให้ตลาดมีความต้องการแรงงานเฉพาะทางที่มีฝีมืออย่างช่างแอร์สูงตามขึ้นไปด้วย กว่าคนคนหนึ่งจะก้าวเข้าสู่การเป็นช่างแอร์เต็มตัวและเริ่มการให้บริการลูกค้าในการซ่อมแซม ทำความสะอาด หรือให้คำแนะนำถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้นั้นอาจจะเริ่มต้นมาจากการเรียนในสายอาชีพช่างไฟฟ้า ในโรงเรียนทั้งภาครัฐ และเอกชน หรือเริ่มต้นจากความสนใจในการมองหาอาชีพใหม่ๆ ในการทำมาหากิน แล้วหาโอกาสในการเรียนรู้ผ่านสถาบันต่างๆ ซึ่งบางส่วนอาจจะใช้วิธี “ครูพักลักจำ” เป็นเด็กฝึกงาน หรือลูกน้องให้กับช่างมืออาชีพและมีการลองผิดลองถูก จนสามารถเริ่มต้นประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง
สิ่งสำคัญในการเป็นช่างเครื่องปรับอากาศมืออาชีพ ได้นั้นจะมีความรู้ความสามารถในเรื่องของระบบไฟฟ้า ความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปติดตั้ง รวมถึงความปลอดภัยในการทำงาน เพราะในการติดตั้งเครื่องปรับอากาศนั้นบางสถานการณ์อาจจะต้องเจอกับพื้นที่ที่ทำการติดตั้ง ซ่อมแซมที่มีความเสี่ยงสูง และอันตราย ซึ่งหากขาดความรู้ความเข้าใจในส่วนนี้ไปอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกาย ทรัพย์สิน และความเชื่อมั่นของผู้ใช้งานได้อีกด้วย
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐอย่าง “สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน” ได้มีการเปิดหลักสูตรต่างๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงานในการผลิตบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการประอาชีพ เพื่อส่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ซึ่งช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับนายจ้าง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทยในการใช้บริการแรงงานมืออาชีพเหล่านี้ แม้แรงงานบางท่านจะเคยผ่านการเรียนรู้ในระดับวิชาชีพมาก่อนแล้ว การเข้าอบรมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจอีกช่องทางหนึ่งในการหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการประกอบอาชีพ เนื่องจากไม่มีค่าใช้จ่ายในการอบรม อีกทั้งผู้เข้าอบรมยังได้รับเอกสารรับรองการเข้าร่วมการฝึกอบรม เพื่อใช้ขยายโอกาสในการทำงานต่างๆ อีกด้วย จากสถิติของผู้ที่เข้ารับการอบรมและผ่านการฝึกอบรมจากสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ มีผู้ผ่านการอบรมเป็นจำนวนสูงถึง 4 ล้านกว่าคนในปี 2563
หยั่งราก เพื่อสร้างความเชื่อมั่น
ปี 2557 ได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานในการออกเอกสารรับรองความรู้ความสามารถในสาขาอาชีพ หรือลักษณะงานที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสาธารณชน ได้แก่ 3กลุ่มอาชีพ
- สาขาช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
- ช่างเชื่อม (ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ,ช่างเชื่อมแม็ก,ช่างเชื่อมทิก)
- ช่างเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก
จะต้องผ่านการประเมิน และได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ เหมือนกับใบขับขี่รถยนต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้าง และผู้ใช้บริการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการทำงานของสายอาชีพนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันมีช่างที่ผ่านการรรับรองความรู้ความสามารถทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนคน
หนังสือรับรองความรู้ความสามารถในโลกซีรีส์และภาพยนตร์
ข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาฝีมือแรงงานประเทศหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากที่มีการพูดถึงการเรียกร้อง การบอกเล่าถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นของผู้ใช้แรงงานทั้งในโลกของซีรีส์และภาพยนตร์ อย่างซีรีส์แนวโรแมนติก-คอมเมดี้อย่างเรื่อง “home town cha cha cha” ออนแอร์เมื่อปี 2564 นำแสดงโดย คิมซอนโฮ รับเป็นเป็น ฮงดูชิก หรือหัวหน้าฮง ซึ่งเป็นสารพัดช่างของหมู่บ้าน คอยซ่อมแซมและแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับคนในชุมชน แถมยังรับตำแหน่งเป็นถึง “พันจัง” หรือหัวหน้าของหมู่บ้าน ในตอนต้นของเรื่อง ตัวละครหลักได้มีการเปิดสมุดที่มีหนังสืออนุญาตการประกอบอาชีพต่างๆ ที่ได้ผ่านการอบรมมาให้กับผู้ว่าจ้างงานดู เพื่อเป็นการรับรองว่าตัวเขาเองสามารถทำงานในหลายๆ ด้านได้จริง และมีมาตรฐานเพราะผ่านการรับรองจากทางภาครัฐมา ซึ่งนั่นก็ทำให้ผู้ว่าจ้าง (นางเอกของเรื่อง) เกิดความเชื่อใจและตัดสินใจจ้างงานในทันที
ฝั่งซีรีส์แนวกฎหมายเองก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ในปี 2561 ได้มีซีรีส์เรื่อง “Your Honor หรือ Dear Judge” นำแสดงโดย ยุนชียุน และอียูยอง ที่บอกเล่าเรื่องราวของฝาแฝดที่ใช้ชีวิตต่างกันอย่างสิ้นเชิง “อีกคนเป็นผู้พิพากษา อีกคนเป็นอาชญากร” ซึ่งตัวละครที่เป็นผู้พากษาได้หายตัวไป ทำให้แฝดอีกคนที่เป็นอาชญากรเข้ามาสวมรอยทำหน้าที่ผู้พิพากษาแทน หลังจากดำเนินเรื่องและคลี่คลายปมปัญหาต่างๆ จนถึงตอนสุดท้าย แฝดคนที่เคยเป็นอาชญากรได้มีการแสดงใบอนุญาตการประกอบอาชีพให้กับแม่ของเขาดู เพื่อเป็นการยืนยันว่าตัวเขาได้กลับตัวกลับใจ และมีความตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอย่างปกติสุขในการทำมาหากินเหมือนกับคนทั่วๆไป และจะไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับโลกของอาชญากรรมอีก
"พอเราบอกว่าเป็นช่างจากสำนักงานใหญ่ลูกค้าเชื่อใจเราก็จริง
แต่หากเรามีหนังสือรับรองตัวนี้ให้ลูกค้าดู ลูกค้าก็เชื่อมั่นในฝีมือเรามากขึ้น"
วัฒนา กาศักดิ์ (ช่างติ๊ก)
ช่างเทคนิค ประจำฝ่ายเซอร์วิส
บริษัท มาเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับช่างติ๊ก วัฒนา กาศักดิ์ ช่างเทคนิค ประจำฝ่ายเซอร์วิส บริษัทมาเวลคอร์ปอเรชั่น ที่ได้ผ่านการอบรม และยื่นเอกสารเพื่อขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จนตอนนี้มีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถในมือถึง 2 ใบ พี่ติ๊กได้บอกกับเราว่าแรกเริ่มเดิมทีไม่ได้ทำงานในสายงานเครื่องปรับอากาศโดยตรง แต่แค่มีความสนใจและพอมีความรู้ในเรื่องของการทำงานด้านไฟฟ้ามาก่อนช่วงที่กฎหมายของการรับรองความรู้ความสามารถออกมาใหม่ๆ ทำให้พี่ติ๊กได้มีโอกาสเข้าไปอบรม และยื่นเอกสารจนผ่านการประเมินและได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถใบแรกในส่วนของสายอาชีพด้านช่างไฟฟ้าภายในอาคาร
หลังจากนั้นได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในสายงานของช่างเครื่องปรับอากาศ และได้เริ่มศึกษาหาความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมาเรื่อยๆ ซึ่งทางบริษัทมาเวลคอร์ปอเรชั่นเองได้มีการทำหนังสือข้อตกลง (MOU) กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในส่วนของการเป็นองค์กรที่สนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานทางด้านช่างเครื่องปรับอากาศอยู่แล้ว ทำให้ผู้บริหารเห็นความสำคัญตรงนี้เลยได้ชวนเข้าไปทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ จนได้ยื่นเอกสารและผ่านการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในส่วนของสายอาชีพสาขาช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และความพิวเตอร์ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้าน และการพาณิชย์ขนาดเล็กเลยส่งผลให้ได้หนังสือรับรองใบที่ 2 มา ซึ่งตอนนั้นเราก็ได้มีการรวมทีมเข้าไปประเมินทั้งจากฝั่งช่างเซอร์วิสเอง และช่างไฟฟ้าที่ดูแลในส่วนของอาคารและสถานที่ เวลาเราไปบริการลูกค้าเราจะแจ้งลูกค้าเสมอว่าเราเป็นช่างจากสำนักงานใหญ่และผ่านการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงานมาแล้วทำให้ลูกค้าอุ่นใจ และเชื่อใจเรามากยิ่งขึ้นเพราะการที่เราจะได้หนังสือรับรองความรู้ความสามารถนั้นไม่ได้หมายความว่าเราจะแค่ซ่อมเครื่องปรับอากาศเป็นแค่อย่างเดียว เพราะจะต้องรู้เรื่องการให้บริการ มาตรฐานความปลอดภัยในการติดตั้ง และความปลอดภัยในการทำงาน อย่างเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็สำคัญ การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้โซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ก็จะช่วยให้เรามีโอกาสในการทำงานมากขึ้น เพราะในวันหยุดพี่ติ๊กจะมีการรับงานเสริมในการล้างทำความสะอาด หรือติดตั้งเครื่องปรับอากาศตามบ้านเรือนอยู่แล้ว นอกจากจะช่วยให้มีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น จะช่วยให้พี่ติ๊กมีประสบการณ์และความคุ้นเคยในเรื่องของเครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นอีกด้วย
สรุปประกาศจากคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน
ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน วันที่ 31 มกราคม 2563 เรื่อง การจำแนกและกำหนดระดับความรู้ความสามารถ และกำหนดช่วงอัตราราคาค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพ สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระบุไว้ว่า สาขาอาชีพช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก หมายถึง ผู้ปฏิบัติงานในการติดตั้ง รื้อถอน ย้าย เปลี่ยน บำรุงรักษา ล้างทำความสะอาด หรือซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ ทั้งภายในอาคารและภายนอกอาคาร โดยปฏิบัติงานอย่างใดอย่างหนึ่งภายใน 3 ประเภทนี้
1.ทำงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนด้วยระบบไฟฟ้า 1 เฟส
โดยมีการติดตั้งทั้งคอยล์ร้อน (Condensing Unit) หรือคอยล์เย็น (Fan Coil Unit) สำหรับเครื่องปรับอากาศใหม่ เดินท่อและต่อท่อระบบสารทำความเย็นโดยใช้แฟร์นัท เดินท่อน้ำทิ้งทำสุญญากาศ ต่อระบบไฟฟ้า และมีการบรรจุสารทำความเย็นเพิ่มเติม รวมถึงทดสอบการเดินเครื่องเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิ ความดัน และกระแสไฟฟ้า บำรุงรักษา ไปจนถึงการล้างทำความสะอาดหรือรื้อถอนคอยล์ร้อน ท่อสารทำความเย็น ท่อน้ำทิ้ง หรือระบบไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งอยู่เดิม
2.ทำงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนด้วยระบบไฟฟ้า 1 เฟส หรือ 3 เฟส
โดยติดตั้งมีการติดตั้ง รื้อถอน ย้าย หรือเปลี่ยนคอยล์ร้อน (Condensing Unit) หรือคอยล์เย็น (Fan Coil Unit) ตัดต่อหรือเดินท่อระบบสารทำความเย็น เดินท่อน้ำทิ้ง ตรวจสอบรอยรั่ว ทำสุญญากาศ บรรจุสารทำความเย็น หรือดูดเก็บสารทำความเย็นออกจากระบบเครื่องปรับอากาศต่อระบบไฟฟ้า ทดสอบการเดินเครื่องเพื่อตรวจสอบอุณหภูมิ ความดัน และกระแสไฟฟ้า บำรุงรักษาล้างทำความสะอาด หรือซ่อมแซมเครื่องปรับอากาศ
3.ปฎิบัติงานเกี่ยวกับเครี่องปรับอากาศทุกชนิดทั้งระบบ 1 เฟส หรือ 3 เฟส
โดยมีการจำแนกระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพในส่วนของช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก เป็น 3 ระดับคือ
- ระดับที่ 1 : มีการปฎิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดไม่เกิน 36,000 BTU/ชั่วโมง (11 kW)
- ระดับที่ 2 : มีการปฎิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดไม่เกิน 72,000 BTU/ชั่วโมง (21 kW)
- ระดับที่ 3 : มีการปฎิบัติงานเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศภายในบ้านและการพาณิชย์ขนาดไม่เกิน 240,000 BTU/ชั่วโมง (70 kW)
อีกทั้งยังได้กำหนดอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมกับระดับความรู้ความสามารถของผู้ประกอบอาชีพสาขาช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์แบะคอมพิวเตอร์ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านเพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก เพื่อเป็นมาตรฐานและให้เกิดความเสมอภาคในการประกอบอาชีพในด้านช่างเครื่องปรับอากาศไว้ดังนี้
- ระดับที่ 1 : วันละ 488-568 บาท
- ระดับที่ 2 : วันละ 568-659 บาท
- ระดับที่ 3 : วันละ 659 บาทขึ้นไป
กว่าจะได้ใบรับรองความรู้ความสามารถ
สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขอรับการประเมินความรู้ความสามารถนั้นจะต้องมีอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในสาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็กเสียก่อนจึงจะสามารถขอรับการประเมินความรู้ความสามารถได้ และมีคุณสมบัติเพิ่มเติมเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดังต่อไปนี้
1.มีวุฒิการศึกษา ปวช.(หรือเทียบเท่า)
2.มีประสบการณ์ในสาขาอาชีพช่างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 1 ปี (ทั้งการเป็นลูกจ้างหรือเจ้าของกิจการ)
3.ผ่านการอบรมในสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องมาอย่างน้อย 60 ชั่วโมง หรือ ผ่านการฝึกงานในสาขาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 300 ชั่วโมง
หมายเหตุ:คุณสมบัติข้อ 2 และ ข้อ3 มีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้
เอกสารประกอบการยื่นขอรับการประเมินความรู้ความสามารถ
1.แบบ คร.10 (คำขอหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ) สามารถดาวน์โหลดได้ที่ : https://www.dsd.go.th/oloc/Region/Doc_ShowDetails/14677
2.รูปถ่ายขนาด 1x1.5 นิ้ว จำนวน 4 รูป
3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
4.สำเนารับรองผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
5.ใบรับรองประสบการณ์ทำงาน (อย่างน้อย 1 ปี)
6.ใบรับรองการผ่านการอบรม (อย่างน้อย 60 ชั่วโมง) และเอกสารแสดงประสบการณ์ทางด้านอื่นๆ
7.สำเนาวุฒิการศึกษา
8.ค่าธรรมเนียมการเข้ารับการประเมิน 1,000 บาท/ครั้ง (ต่ออายุทุก 5 ปี)
หลังจากทำการยื่นเอกสารและผ่านการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่เเล้ว ผู้เข้าขอรับรองความรู้ความสามารถจะต้องเข้ารับการสัมภาษณ์ พร้อมกับแสดงผลงานในการทำงานที่ผ่านมา
"ผู้ขอรับรองความรู้ความสามารถจะต้องได้รับคะแนนการประเมินไม่น้อยกว่า 80%
จึงจะถือว่าผ่านการประเมินและได้ใบรับรองความรู้ความสามารถ"
ซึ่งสามารถยื่นคำขอไปได้ที่ศูนย์การประเมินความรู้ความสามารถกลางทั่วประเทศ
1.กรุงเทพมหานคร : สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ,สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานกรุงเทพมหานคร
2.ต่างจังหวัด : สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงงานของแต่ละจังหวัด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง...
สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ
โทร: 02 245 1703 , 02 248 4788
Facebook:สำนักงานรับรองความรู้ความสามารถ
Website:www.dsd.go.th